Donate
Sattahip SEPT 07 2

อีกครั้งที่กุ้งและอาหารทะเลอื่นที่นำเข้าจากประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องกับทาสสมัยใหม่

รัฐสภากำลังร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ให้การคุ้มครองลูกเรืออ่อนแอลง กระตุกความหวาดกลัวของการกลับไปสู่ ‘วันวานที่เลวร้าย’ ของการค้ามนุษย์

ทูน่า กุ้ง และปู จากประเทศไทยอาจถูกนำออกจากชั้นจำหน่ายของห้างสรรพสินค้าในประเทศตะวันตก หากว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เพิกถอนกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องลูกเรือ เจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรปกล่าว

การสืบสวนราวทศวรรษก่อนได้เปิดโปงว่าชาวประมงถูกกักตัวอยู่บนเรือประมงไทยนานนับปีในฐานะของทาสสมัยใหม่ หลายคนถูกทารุณกรรมและยังพบรายงานการฆาตกรรมด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ก็เกิดอย่างแพร่หลายมากขึ้น

สถานการณ์นี้คลี่คลายลงเมื่อมีการนำมาตรการทางกฎหมายที่ออกแบบสำหรับการคุ้มครองแรงงานและสามารถหลีกเลี่ยงการแทรกแซงจากต่างประเทศในขณะนั้นได้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐสภาไทยกำลังร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะผ่อนปรนการคุ้มครองต่างๆ ลงอย่างฮวบฮาบ

จากบทวิเคราะห์ของมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ พบว่าการแก้ไขกฎหมายนี้มีความพยายามยกเลิกข้อกำหนดให้แจ้งบัญชีรายชื่อลูกเรือเมื่อออกจากท่า รวมถึงมีการผ่อนปรนให้สามารถเปลี่ยนย้ายลูกเรือและขนถ่ายสัตว์น้ำที่จับได้จากเรือลำหนึ่งไปยังอีกลำหนึ่งระหว่างอยู่กลางทะเลได้

“รัฐบาลใหม่ของไทยภายใต้การบริหารงานของนายเศรษฐา ทวีสิน กําลังดําเนินนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่ถอยหลังในภาคประมง จากแรงจูงใจนี้ประกอบด้วยความโลภ ความเพิกเฉย และการไม่ยอมรับความจริงอย่างละเท่าๆ กัน” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อํานวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“หากร่างกฎหมายนี้ผ่านการเห็นชอบ ประเทศไทยจะกลับไปสู่วันวานเก่าๆ อันเลวร้ายของการขนถ่ายสัตว์น้ำและเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงให้กับการค้าแรงงานอย่างเป็นระบบและแพร่หลาย และจะนำไปสู่การทำประมง IUU”

Sattahip SEPT 06

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกล่าวในการเสวนาเมื่อเร็วๆ นี้ที่กรุงเทพฯ ว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากกฎหมายประมงฉบับปัจจุบันมีขั้นตอนราชการและยุ่งยากมากเกินไป จนส่งผลให้การส่งออกและผลกําไรลดลง เขากล่าวเสริมว่ากฎหมายเหล่านี้ถูกตราขึ้นโดยรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารที่ไม่มีใครต้องการและไม่เป็นประชาธิปไตยหลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557

โฆษกของพรรคก้าวไกลซึ่งสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกล่าวเสริมว่า “จุดยืนของเราในการแก้ไขกฎหมายประมงคือการแก้ไขบทลงโทษให้เป็นธรรมและได้สัดส่วนกับอาชญากรรมมากขึ้น” เขายืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างจะไม่ “สร้างช่องโหว่ที่อาจนําไปสู่การละเมิดแรงงาน”

แต่โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) บอกกับ Telegraph ว่า “ใบเหลือง” ซึ่งถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 หรือการแทรกแซงอื่นๆ อาจถูกนํามาใช้ หากแผนการที่จะยกเลิกข้อบังคับยังคงดำเนินต่อไป สิ่งนี้อาจจำกัดหรือทำให้การค้าหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชาวตะวันตก

“คณะกรรมาธิการมีความกังวลอย่างมากต่อร่างกฎหมายของไทย” โฆษกกล่าว และเสริมว่าคณะกรรมาธิการมองว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็น “การผ่อนปรนข้อบังคับในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ” ซึ่ง “ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”

“จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการว่าเป็นหนึ่งในความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับการประมง IUU ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศที่สาม และเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของความร่วมมือที่สร้างสรรค์ในด้านนี้” โฆษกกล่าว “[การปฏิรูป] มีส่วนช่วยเพิ่มความโปร่งใสและทำให้บรรลุความยั่งยืน ความชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมในภาคประมง”

แต่พวกเขาเสริมว่า “คณะกรรมาธิการจะไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด หากพิจารณาได้ว่าประเทศไทยกําลังไม่ให้ความร่วมมือในการต่อสู้กับการทำประมง IUU”

รัฐบาลไทยยืนกรานว่าการค้าจะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวทางใหม่ โดยเน้นย้ำว่าสหภาพยุโรปซึ่งกําลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA มีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 6 ของการส่งออกอาหารทะเล

หกปีที่ติดกับอยู่กลางทะเล: 'อาตมาเคยถูกลวกด้วยน้ำร้อน'

เมื่อประเสริฐ ศรีวะอุไร เข้ามาเป็นลูกเรือประมง เขาถูกล่อลวงด้วยสัญญาว่าจะได้เงินเดือนและมีสภาพการทำงานที่ดี แต่ในไม่ช้าเขาก็ติดกับอยู่กลางทะเล ถูกบังคับให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ ‘ไม่เหมาะสำหรับทาส’ หรือมิฉะนั้นก็ถูกทุบตีด้วยค้อนและหางปลากระเบนหนาม

แต่ประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างก็มีข้อกำหนดหรือกําลังพัฒนาข้อกำหนดด้านการนำเข้าอาหารทะเล เพื่อคัดกรองและป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายและการละเมิดแรงงาน ปัจจุบันการส่งออกเกือบร้อยละ 60 ของไทยจะไปยังประเทศเหล่านี้

“หากมีการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมการส่งออกอาหารทะเลที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทย... [และ] เปิดช่องให้กับการทำประมงที่ผิดกฎหมายและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ของแรงงาน” ดอมินิก ทอมสัน รองผู้อำนวยการและผู้จัดการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อมกล่าว

"การวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่า การค้าอาหารทะเลกับ 6 ประเทศรวมกับสหภาพยุโรปที่มีมูลค่ามากถึง 3.3 พันล้านดอลลาร์ ในปี พ.ศ. 2565 จะตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากตลาดเหล่านี้มีมาตรการทางการค้าใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าที่มาจากการประมง IUU หรืออาหารทะเลที่จับโดยการใช้แรงงานทาสเข้าสู่ประเทศของตน”

เขากล่าวเสริมว่า นโยบายที่ก้าวถอยหลังนี้จะขัดแย้งกับฉันทามติระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ กําลังมุ่งหน้าไปสู่อุตสาหกรรมประมงที่เข้มงวดและมีการตรวจสอบที่ดีขึ้นมากขึ้น

“ประเทศไทยได้ลงแรงอย่างหนักในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเพื่อสร้างตัวเองให้เป็นผู้นําตลาดในเรื่องนี้” เขากล่าวต่อ Telegraph “การกลับหลังหันในตอนนี้จะทำลายความได้เปรียบในการแข่งขันที่เอาชนะได้ยาก และคุกคามความอยู่รอดของอุตสาหกรรมเอง... เรากำลังเหลือโอกาสไม่มากนักที่จะหยุดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้”

This piece was written by Sarah Newey, Global health security correspondent, and originally published in The Telegraph, and has been translated and shared here with permission.