Donate
โครงการ Net Free Seas: สร้างทะเลไทยปลอดเศษอวนด้วยมือชุมชนผ่านการรีไซเคิล
May 19, 2020

โครงการ Net Free Seas: สร้างทะเลไทยปลอดเศษอวนด้วยมือชุมชนผ่านการรีไซเคิล

By EJF Staff

โครงการ Net Free Seas โดยมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ด้วยการสนับสนุนทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมผู้ค้าปลีกนอร์เวย์มีจุดหมายโครงการคือการกำจัดขยะเศษอวนประมงใช้แล้วที่คร่าชีวิตสัตว์ทะเลและทำลายสิ่งแวดล้อม โดยภายใต้โครงการนี้ ชุมชนชายฝั่งและชาวประมงพื้นบ้านจะช่วยกันเก็บเศษอวนเพื่อส่งต่อให้โครงการนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่เป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคหลากหลายชนิด เช่น อุปกรณ์เครื่องครัว เครื่องใช้ในบ้าน หรือ อุปกรณ์กีฬาทางน้ำ กิจกรรมของโครงการจะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในเวลาเดียวกัน

เศษอวนประมงใช้แล้ว - มัจจุราชแห่งมลพิษพลาสติก

เศษอวนนั้นเป็นอันตรายต่อทรัพยากรทางทะเลเป็นอย่างมาก เศษอวนใช้แล้วที่หล่นหายและลอยอยู่ในทะเลนั้นเหมือนกับมัชจุราชที่รอคร่าชีวิตสัตว์ทะเลตัวแล้วตัวเล่า ในหนึ่งปี มีเศษอวนประมงใช้ที่กลายเป็นขยะในทะเลอย่างน้อย 640,000 ตันทุกปี เศษอวนเหล่านี้อาจลอยอยู่ในทะเลได้อีกเป็นสิบๆปี และทำให้สัตว์ทะเล เช่น วาฬ ปลาโลมา และเต่าทะเล ถูกทำร้ายโดยการถูกเศษอวนรัดจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และยังทำลายแนวปะการัง ซึ่งเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกหลายชีวิต

นอกจากนี้ เศษอวนประมงที่ใช้แล้วเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่ผูกพันอยู่กับทรัพยากรทางทะเล เช่น ในแถบทะเลบอลติก ชุมชนที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ต้องสูญเสียรายได้ เนื่องจากเศษอวนลอยเพียงชิ้นเดียวได้สร้างความสูญเสียที่มีมูลค่าถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ทุนสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมผู้ค้าปลีกนอร์เวย์จะช่วยให้ EJF สามารถมีผู้ประสานงานโครงการที่คอยทำงานร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนาโครงการให้เหมาะสมตามบริบทของชุมชน และรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของเศษอวนประมงต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะมีการจัดอบรมเรื่องการจัดการขยะจากเศษอวนเพื่อไม่ให้กลายเป็นมลพิษพลาสติกในทะเลอีกด้วย ในเบื้องต้นทางโครงการมีแผนจะดำเนินเป็นเวลา 1 ปีด้วยทุกสนับสนุนนี้ และจะขยายโครงการให้มีชุมชนชายฝั่งที่เข้าร่วมอย่างน้อย 10 ชุมชน และจะเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป โดยจะดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจากโครงการนำร่องในปี 2562 ที่ทำงานร่วมกับชุมชนประมงพื้นบ้านจาก 3 จังหวัด จนสามารถรวบรวมเศษอวนประมงใช้แล้วไปรีไซเคิลได้เป็นจำนวนถึง 1 ตัน

“ปัญหาขยะที่มาจากเศษอวนประมงนั้นเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างมาก นอกจากจะมีปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆไปติดกับอวนจนเสียชีวิตเป็นหลายสิบปี เศษอวนที่ลอยอยู่ในทะเลยังจะย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกที่จะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆตามมา จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เศษอวนและอุปกรณ์การทำประมงชนิดอื่นๆนั้นถูกเก็บจากทะเลของเรา และทางกองทุนเชื่อว่า โครงการของ EJF จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ “ Rasmus Hansson ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกองทุนสิ่งแวดล้อมผู้ค้าปลีกนอร์เวย์กล่าว

Steve Trent ผู้อำนวยการมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) กล่าวว่า: “ ทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตในทะเลถูกเศษอวนประมงเหล่านี้ทำร้ายและทำลายอย่างร้ายแรงทุกปี โครงการนี้จะช่วยเสริมพลังและสร้างทักษะให้ชุนชนสามารถปกป้องทะเลหน้าบ้านตัวเองจากมัจจุราชที่มาจากขยะประเภทนี้ได้ นอกจากจะช่วยปกป้องสัตว์ทะเลแล้ว โครงการนี้จะช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตในทะเล และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนประมงพื้นบ้านในเวลาเดียวกัน “

การมุ่งมั่นเพื่อมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหามลพิษระดับโลก

โครงการจะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกนี้ด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อนโดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มจากชุมชนชายฝั่งและชาวประมงพื้นบ้านช่วยเก็บเศษอวนประมงที่ไม่ใช้แล้วมาทำความสะอาดด้วยน้ำทะเล จากนั้นเศษอวนจะถูกนำส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเข้ากระบวนการรีไซเคิลให้กลับมาเป็นเม็ดพลาสติกที่บริษัทต่างๆสามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าสำหรับผู้บริโภคหลายชนิดได้

ในการเริ่มโครงการเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ EJF ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่มีพันธกิจด้านความยั่งยืนสองบริษัท คือ Qualy แบรนด์ไทยดีไซน์ดีที่รักษ์โลกและชุมชน ที่ได้พัฒนาพวงกุญแจ push stick ที่สามารถใช้เป็นที่กดปุ่มเพื่อป้องกันการสัมผัสพื้นผิวและเชื้อโรค และหน้ากาก face shield สำหรับป้องกันไอและละอองฝอยที่อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน ในช่วงที่ โรคโคโรนาไวรัสกำลังระบาด และ Starboard บริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬาทางน้ำที่ได้ร่วมสนับสนุนโครงการตั้งแต่ช่วงนำร่องโดยได้ส่งเศษอวนประมงที่เก็บได้จากโครงการ Plastic Offset Programme ของบริษัทมารีไซเคิล

ชุมชนที่ช่วยรวบรวมเศษอวนประมงใช้แล้วจะได้รับค่าเศษอวนตอบแทน โดยอาจจ่ายผ่านรูปแบบกองทุนชุมชน ซึ่งจะนำไปใช้สนับสนุนการพัฒนาและสร้างสิ่งปลูกสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ หรือโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรืออาจจ่ายให้ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นรายบุคคลแล้วแต่ความต้องการของแต่ละชุมชน โดยจะมีการหารือกับชุมชนก่อนดำเนินการ

ที่ผ่านมาโครงการได้รับการสนับสนุนจากกรมประมงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการพัฒนาโครงการนำร่อง ซึ่งทางกรมประมงได้สนับสนุนความช่วยเหลือในการสร้างความร่วมมือกับ 3 ชุมชนชายฝั่งที่เข้าร่วมโครงการและการประชาสัมพันธ์โครงการให้แก่ชุมชนชายฝั่งและชาวประมงพื้นบ้าน

ในอนาคต EJF วางแผนจะขยายการดำเนินงานโครงการออกไปในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในแอฟริกาตะวันตกที่มลพิษพลาสติกนั้นเป็นปัญหาที่กำลังสร้างความเดือนร้อนอย่างรุนแรง