Donate
Jul 10, 2019

การมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้นจากทรัพยากรประมงและการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนของสมาคมประมงแห่งประเทศไทยนั้นเป็นอันตรายต่ออนาคตภาคอุตสาหกรรมประมงไทย

By EJF Staff

สมาคมประมงแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่าจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขัดขวางการปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน ลูกปลาทูในทะเลไทย โดยต้องการจะยับยั้งความพยายามของกรมประมงในการปกป้องทรัพยากรเพื่อมอบโอกาสให้ลูกปลาทูได้เติบโตและขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนตามธรรมชาติ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) แถลงว่า ความพยายามนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จำเป็นในการอนุรักษ์ปลาทู ซึ่งจะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญของอุตสาหกรรมประมงไทย และยังเป็นช่วยปกป้องวิถีชีวิตของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่ควรชะลอการริเริ่มบังคับใช้มาตรการเพื่อการอนุรักษ์นี้ตามข้อเรียกร้องของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย

จำนวนปลาทูที่ถูกจับได้ในทะเลไทยนั้นลดถึง 92% ในช่วงปีพ.ศ. 2554 ถึง 2561 โดยปลาทู สัตว์เศรษฐกิจที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในการทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวประมงพื้นบ้านมักถูกจับไปขายตั้งแต่ก่อนถึงวัยอันควร และมักจะไม่มีโอกาสได้เติบโตจนขยายพันธุ์เพื่อทดแทนจำนวนสัตว์น้ำที่ลดลงจากการทำประมง

การนำมาตรา 57 มาบังคับใช้เพื่อประกาศกำหนดห้ามนำสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่ากำหนดขึ้นเรือประมง จะเป็นการช่วยป้องกันลูกปลาทูที่ยังไม่โตเต็มวัยให้รอดพ้นจากการทำประมง โดยตามกฎหมายกำหนดโทษให้ผู้กระทำผิดต้องถูกยึดสัตว์น้ำทั้งหมดที่อยู่ในเรือประมง ถูกเพิกถอนใบอนุญาตการทำประมงและถูกปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท หรือปรับเป็นจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำทั้งหมด (ยึดตามมูลค่าที่มากกว่า)

โดยกรมประมงจะนำข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับโดยบังเอิญมาพิจารณาร่วมด้วยในการบังคับใช้ เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่ชาวประมงจะกระทำผิดตามมาตรา 57 อย่างไม่ตั้งใจ ทั้งในชาวประมงที่ทำการประมงพาณิชย์และประมงแบบพื้นบ้าน มูลนิธิEJF กล่าวว่า การนำข้อกำหนดนี้เข้ามาบังคับใช้ด้วยถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ควรจะต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และวางข้อกำหนดเกี่ยวกับปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกจับได้โดยบังเอิญใช้เหมาะสมและชัดเจน เพื่อเป็นการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้

จากการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมของประมงพื้นบ้านและประมงประมงพาณิชย์ในพ.ศ. 2559 – 2560 ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมประมง กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้ยินดีร่วมมือและสนับสนุนมาตรการเพื่อการอนุรักษ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางประมงพาณิชย์นั้นยังไม่ยอมรับมาตรการดังกล่าว และล่าสุด ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทยยังได้ออกมาประกาศนัดชาวประมงทั้งประเทศชุมนุม คัดค้าน หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมประมงนำ พ.ร.ก.การประมง 2558 มาตรา 57 มาบังคับใช้

สตีฟ เทรนท์ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิ EJF กล่าวว่า “ จำนวนปลาทูที่ลดลงถึง 92% แสดงให้เห็นว่าจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดนี้กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต และในขณะที่กรมประมงกำลังเดินหน้าทำสิ่งที่ถูกต้องในการวางแผนบังคับใช้มาตรการเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อนเละวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน สมาคมประมงแห่งประเทศไทยก็ได้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า พวกเขาแก่ประโยชน์ของคนไม่กี่คนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมของคนไทยทั้งประเทศ กรมประมงควรเดินหน้าต่อไปในการทำงานให้มาตรการนี้ได้ถูกบังคับใช้ท่ามกลางการกดดันจากสมาคมประมงฯ “

การปกป้องและอนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อนนั้นจำเป็นอย่างยิ่งในการฟื้นฟูทรัพยากรและประชากรสัตว์น้ำ การริเริ่มนำมาตรา 57 มาบังคับใช้เป็นการนำร่องในการอนุรักษ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจพันธุ์อื่นๆ เช่น ปูม้า โดยการวางแผนมาตรการและการบังคับใช้กฎหมายที่ถี่ถ้วนและครอบคลุมจะกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจและทรัพยากรของภาคอุตสาหกรรมประมงไทย

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน

  • จำนวนปลาทูที่ถูกจับได้ในทะเลไทยนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากสถิติของกรมประมง มีการจับปลาทูทั้งหมด 130,000 ตันในพ.ศ. 2554 ในขณะที่ พ.ศ. 2561 ปลาทูที่ถูกจับได้ในทะเลไทยมีจำนวนเหลือเพียงประมาณ 10,000 ตันเท่านั้น
  • ปลาทูทั้งหมดที่ถูกจับได้ 130,000 ตันในพ.ศ. 2554 มีมูลค่า 4.5 ล้านบาท
  • ศักยภาพของเครื่องมือประมงที่สูงขึ้นทำให้โอกาสจับสัตว์น้ำวัยอ่อนนั้นเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางภาพภูมิอากาศ และความต้องการในบริโภคลูกปลาทูยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปลาทูมีจำนวนลดลง
  • ในปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าปลาทูจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค
  • ที่ผ่านมากรมประมงได้ทำงานและร่วมมือกันกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาจำนวนปลาทูที่ลดลง และดำเนินมาตรการอนุรักษ์เช่นการปิดอ่าวไทยในช่วงฤดูวางไข่ แต่ยังไม่เห็นผลมากนัก

มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ระหว่างประเทศที่ทำงานทั่วโลกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยจัดทะเบียนองค์กรในประเทศอังกฤษและเวลส์ (1088128). www.ejfoundation.org

ติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Daisy Brickhill - ผู้ประสานงานด้านสื่อและการสื่อสาร

daisy.brickhill@ejfoundation.org

โทร: +44 7871 946 911