Donate
Apr 08, 2021

แถลงการณ์จากสตีฟ เทรนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) เรื่องการปฏิรูปและปรับปรุงอุตสาหกรรมการประมงไทย

By EJF Staff

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Seasiparacy ที่เพิ่งออกฉายทาง Netflix เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้คนทั่วไปหันมาให้ความสนใจและก่อให้เกิดบทสนทาในสาธารณะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมประมงไทยมากขึ้น

EJF ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2557 โดยเริ่มจากการทำงานเพื่อสืบสวนกรณีพฤติกรรมการทำประมงผิดกฎหมายและทำลายล้าง และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย โดยในช่วงนั้น การทำงานในประเทศไทยทำให้เราได้ค้นพบข้อเท็จจริงหลายอย่างที่น่ากังวล ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พบได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งตอนนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ขาดการจัดการควบคุมอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการทำประมงเกินขอบเขต จนทำให้ทรัพยากรประมงนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด และทำให้ผู้ประกอบการหลายคนต้องหันไปพึ่งพาการใช้แรงงานราคาถูกเพื่อลดต้นทุน ทำให้เกิดการใช้แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในช่วงเวลาที่ทาง EJF ได้ให้สัมภาษณ์แก่ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Seasiparacy เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ที่อธิบายมาด้านบนยังคงเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการประมงไทย

ในตอนนั้น รายงานของ EJF ในปีช่วงปี พ.ศ. 2557 2558 และ 2559 และบทความจากหนังสือพิมพ์ the Guardian และสำนักข่าว Associated Press ได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) การทำร้ายร่างกาย การบังคับใช้แรงงาน และการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นบนเรือประมงไทยในช่วงนั้น เพื่อเป็นการตีแผ่ถึงปัญหาที่ร้ายแรงและควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยปัญหาด้านการทำประมงผิดหฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ถูกค้นพบในอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ประเทศได้ถูกลดดับในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา (TIP Report) ในพ.ศ. 2554 และทำให้สหภาพยุโรปได้มอบคำเตือนอย่างเป็นทางการ หรือใบเหลืองให้แก่ประเทศไทยในพ.ศ. 2555 เพิ่งผลักดันให้ประเทศไทยดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน

หลังจากนั้นเอง รัฐบาลไทยจึงได้มีความพยายามในการแก้ไขกรอบกฎหมายด้านการดูแลและบริหารจัดการการประมงไทย และยังได้มีการมุ่งมั่นพัฒนาและเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำจัดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรประมง และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันร้ายแรงให้หมดไปจากอุตสาหกรรมประมง

ไทยอย่างจริงจัง โดยได้มีการทุ่มเทความพยายามและงบประมาณเพื่อทำให้การดำเนินงานนี้สัมฤทธิ์ผล และตัวข้าพเจ้าเอง เช่นเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ของ EJF ประจำประเทศไทยทุกคนก็ได้เห็นความจริงจังในความพยายามของประเทศไทยด้วยตนเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งผ่านการทำงานและให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผ่านการหารือกับรัฐบาลไทย ซึ่งทางรัฐบาลไทยนั้นเองได้แสดงความเป็นผู้นำและความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตลอดมา EJF ขอชื่นชมทางรัฐบาลไทยในความพยายามและความสำเร็จที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังอยู่คู่อุตสาหกรรมประมงมาหลายทศวรรษ และยังขอแนะนำให้รัฐบาลไทยเดินหน้าในการแก้ปัญหาด้านนี้ต่อไป

ปัญหาด้านการทำประมงผิดกฎหมายการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทยนั้น ยังคงมีช่องว่างที่ต้องปรับปรุง และอุตสาหกรรมประมงเองนั้นก็ต้องปรับปรุงและปรับตัวให้เท่าทันกับความพยายามในการแก้ปัญหาของรัฐบาลเช่นเดียวกัน

การดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เช่น การติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) บนเรือประมงไทยหลายหมื่นลำ การปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง และการกำหนดให้มีการตรวจเรือประมงหน้าท่า การห้ามขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล การขึ้นบัญชีดำเจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือที่เคยเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย การเผยแพร่ข้อมูลเรือประมงไทยสู่สาธารณะ และการเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 (C188) เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของความสำเร็จของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง และความสำเร็จเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรภูมิใจ เนื่องจากความสำเร็จเหล่านี้ช่วยนำไปสู่การปลดใบเหลืองของสหภาพยุโรปให้แก่ประเทศไทยในพ.ศ. 2562 และการปรับระดับของประเทศไทยในรายงาน TIP Report

อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์ประกอบและช่องว่างที่ประเทศไทยสามารถปรับปรุงได้อีกเพื่อส่งเสริมและยกระดับความยั่งยืนและการปกป้องสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงไทยให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปอีก เช่น การแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายเพื่ออนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถก่อตั้งและเป็นผู้นำในสหภาพแรงงานได้ หรือการเพิ่มการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวและนำผู้ได้รับผลประโยชน์สัญชาติไทยที่เกี่ยวข้องกับเรือประมงที่ทำการประมงผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิแรงงานในน่านน้ำสากลมาเข้าสู่กระบวนทางกฎหมายได้

EJF เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยมีศักยภาพในการเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาและต่อยอดจากความสำเร็จของการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงที่ได้ดำเนินการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยควรมุ่งหน้าต่อในการใช้หลักวิทยาศาสตร์มาส่งเสริมการจัดการอุตสาหกรรมประมงเพื่อทำให้อุตสาหกรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและถูกต้องตามกฎหมายและหลักจริยธรรมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังควรมุ่งเน้นและทำให้แน่ใจว่าการตรวจเรือประมงทั้งหน้าท่าและกลางทะเลจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยมีการสนับสนุนทางด้านงบประมาณและบุคลากรอย่างเพียงพอ

ประเทศยังคงมีโอกาสทีจะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและปัญหาในอดีตที่ทำให้การทำประมงผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในอดีตต่อไป โดย EJF ขอสนับสนุนให้มีการนำหลักการด้านความโปร่งใสในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลทั่วโลก 10 ข้อ ของ EJF มาปรับใช้ในประเทศไทย โดยการนำหลักการเหล่านี้มาใช้จะช่วยส่งเสริมศักยภาพความเป็นผู้นำของประเทศไทยในการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน เนื่องจากหลักการทั้ง 10 ข้อนั้นครอบคลุมและเป็นการผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีและกลไกทางกฎหมายที่สามารถนำไปดำเนินการได้จริง เช่น การเพิ่มระดับความเข้มข้นในการใช้เทคโนโลยีการติดตามเรือประมง การเปิดเผยข้อมูลเรือประมงสาธารณะ การสร้างเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและนานาชาติในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการให้ลงนามให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

การนำหลักการและกลไกด้านความโปร่งใสที่ครอบคลุมทุกมิติไปดำเนินการในการบริหารจัดการกองเรือประมงพาณิชย์ไทยจะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบย้อนกลับและความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมประมงไทย ทำให้ผู้บริโภค ผู้ค้าปลีก และซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นมั่นใจยิ่งขึ้นในการเลือกบริโภคและจำหน่ายอาหารทะเลไทยที่มาจากการทำประมงอย่างยั่งยืน ถูกต้องตามกฎหมาย และหลักจริยธรรมอย่างแท้จริง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานของ EJF ในประเทศไทยได้ในรายงาน “Thailand’s Road to Reform”.

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานรณรงค์เพื่อสร้างเสริมความโปร่งใสในอุตสาหกรรมประมงของ EJF กรุณาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://ejfoundation.org/reports/out-of-the-shadows-improving-transparency-in-global-fisheries-to-stop-illegal-unreported-and-unregulated-fishing